ภาพรวมโครงการ Genomics Thailand
Genomics Thailand หรือ จีโนมิกส์ประเทศไทย เป็นโครงการวิจัยด้านสุขภาพ เพื่อรวบรวมและสร้างฐานข้อมูลพันธุกรรมขนาดใหญ่ของคนไทย เพื่อให้นักวิจัยใช้ข้อมูลเหล่านี้ในการศึกษาวิจัยในอนาคตเกี่ยวกับสุขภาพของคนไทย ทำให้ประชาชนได้รับการวินิจฉัย การรักษาอย่างจำเพาะและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบให้โครงการจีโนมิกส์ประเทศไทยเป็นแผนปฏิบัติการ เพื่อผลักดันให้เกิดกิจกรรมการแพทย์ระดับจีโนมในประเทศไทย ภายในระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2563-2567) เพื่อให้ประเทศไทยเป็นผู้นำอาเซียนด้านการรักษา 5 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคมะเร็ง โรคหายาก โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โรคติดเชื้อ และเภสัชพันธุศาสตร์ โดยดำเนินการถอดรหัสพันธุกรรมทั่วจีโนมของประชากรไทยจำนวน 50,000 ราย
Project Numbers
1. ภาพรวมโครงการ
วัตถุประสงค์ของโครงการ
1. เพื่อถอดรหัสพันธุกรรม (Whole Genome Sequencing : WGS) ของผู้ป่วยประชากรไทย จำนวน 50,000 ราย
2. เพื่อพัฒนากระบวนการวินิจฉัยแบบจีโนมิกส์
3. เพื่อศึกษาปัจจัยเสี่ยงทางพันธุกรรมสำหรับโรคต่างๆ เช่น Inherited diseases, Familial cancers, Primary immune deficiency
4. เพื่อจัดทำแนวทางเวชปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง
ประโยชน์ต่อประชาชนและสังคม
• ลดการป่วยและป้องกันการเสียชีวิตก่อนเวลาอันควร
• ลดค่าใช้จ่ายในการรักษาที่ไม่แม่นยำ
• มีเทคโนโลยีระดับสูงไว้บริการใน Medical Hub
• ส่งเสริมอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรภายในประเทศ
• เพิ่มตำแหน่งงานทั้งระดับผู้เชี่ยวชาญ และผู้ปฏิบัติงาน
แผนการดำเนินโครงการ
การดำเนินโครงการแบ่งเป็น 5 ขั้นตอน ได้แก่
1 : ลงทะเบียนอาสาสมัคร เก็บตัวอย่างเลือด และข้อมูลทางคลินิก โดยบุคลากรจากโรงเรียนแพทย์/สถานพยาบาลในสังกัด สธ.
2 : สกัด DNA จากเลือด ใช้โปรโตคอลมาตรฐาน และเก็บตัวอย่างในธนาคารชีวภาพ ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
3 : ถอดรหัสพันธุกรรมจาก DNA ด้วยเทคโนโลยี NGS จำนวน 50,000 ราย ภายใน 5 ปี ที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
4 : ประมวลผลข้อมูลพันธุกรรม/บริหารจัดการข้อมูล และสร้างเครื่องมือช่วยวินิจฉัย โดยธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ สวทช.
5 : วินิจฉัยโรคจากข้อมูลการกลายพันธุ์
เพื่อเลือกการรักษาที่เหมาะสม โดยศูนย์การแปลผลข้อมูลการกลายพันธุ์