ประเทศไทยได้ดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย (Genomics Thailand) ปี พ.ศ. 2563–2567 โดยเกิดจากความร่วมมือของกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมหน่วยงานภาคีเครือข่าย (Genomics Thailand consortium) และโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC (Eastern Economic Corridor) เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาการแพทย์จีโนมิกส์ในประเทศไทย ภายใต้ยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 โดยตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการแพทย์จีโนมิกส์ระดับอาเซียนภายใน 5 ปี และประชาชนไทยสามารถเข้าถึงบริการด้านการแพทย์จีโนมิกส์อย่างมีคุณภาพ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการและอนุมัติกรอบงบประมาณดำเนินงานเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2562 เพื่อขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการบูรณาการฯ ดังกล่าว โดยกำหนดยุทธศาสตร์ 6 ด้านสำคัญ ได้แก่ (1) การวิจัยและประยุกต์ใช้ มุ่งเน้น 5 หัวข้อ คือ โรคมะเร็ง (Cancer) โรควินิจฉัยยาก (Rare) โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) โรคติดเชื้อ (Infectious) และเภสัชพันธุศาสตร์ (PGx) (2) การบริการ พัฒนามาตรฐานและคุณภาพการให้บริการทางการแพทย์จีโนมิกส์ (3) การวิเคราะห์และจัดการข้อมูลด้านชีวสารสนเทศ (bioinformatics and genomic data processing and management) (4) ด้านจริยธรรม กฎหมาย และสังคม (ELSI) (5) การผลิตและพัฒนาบุคลากร (human resource/capacity building) (6) การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (medical hub)
ปัจจุบันได้มีการเริ่มดำเนินโครงการรับอาสาสมัครเข้าโครงการใน 5 กลุ่มโรค และดำเนินการถอดรหัสพันธุกรรมทั่วจีโนม (Whole Genome Sequencing) แล้ว โดยมีเป้าหมายทำการถอดรหัสพันธุกรรมในประชากรไทยจำนวน 50,000 ราย ภายใน 5 ปี เพื่อจัดตั้งเป็นฐานข้อมูลพันธุกรรมทั่วจีโนมของประชากรไทยเพื่อใช้ประโยชน์ในงานวิจัย และการให้บริการการแพทย์จีโนมิกส์ต่อไป ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือเข้าเป็นอาสาสมัครในโครงการผ่านหน่วยประสานงานโครงการจีโนมิกส์ประเทศไทยจำนวน 30 แห่ง ทั่วประเทศ
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
แพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร
มหาวิทยาลัยขอนแก่น
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยบูรพา
มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
มหาวิทยาลัยศรีนคริทรวิโรฒ องครักษ์
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
โรงพยาบาลชลบุรี
โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์
โรงพยาบาลตำรวจ
โรงพยาบาลนครพิงค์
โรงพยาบาลพระปกเกล้า
โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา
โรงพยาบาลราชบุรี
โรงพยาบาลราชวิถี
โรงพยาบาลรามาธิบดี
โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน
โรงพยาบาลศูนย์มะเร็ง ชลบุรี
โรงพยาบาลสกลนคร
โรงพยาบาลสุรินทร์
ศิริราชพยาบาล
สถาบันประสาทวิทยา
สถาบันมะเร็ง
สถาบันโรคทรวงอก
สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี